คนดี เก่ง แกร่ง และมีความสุข

“คนดี เก่ง แกร่ง และมีความสุข”

“ไกลสุดไกล สุดปลายรุ้ง ดวงตาน้อยๆมุ่งมองไปแสนไกล
เด็กน้อยเอ๋ยเจ้าฝันเจ้าใฝ่ถึงสิ่งใดบ้างหนา
หนูหนูเอ๋ยหนูน้อย ขอถามหนูหน่อยได้ไหม
หนูใฝ่หนูฝันอยากเป็นอะไร เมื่อหนูโตสิ่งใดที่อยากเป็น”
       แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่คนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่ายดายนัก แต่เมื่อได้ยินบทเพลง “หนูอยากเป็นอะไร” ของพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ บรรเลงขึ้นครั้งใด เสียงร้องหนูๆ ผสานกับเสียงแจ้วจ้าวของเด็กๆ ในบทเพลงนี้ก็ทำให้รู้สึกเต็มตื้นหัวใจทุกครั้ง เพราะทำให้เห็นภาพเด็กตัวน้อยคนหนึ่งยืนทำตาแป๋วแว๋วอยู่ข้างๆ ผู้ใหญ่ซึ่งถามเขาว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?”
       ไม่ว่าคำตอบของเด็กคนนี้จะเป็นเช่นไร สิ่งที่เชื่อมั่นได้คือเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นเช่นนั้นด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ เช่นเด็กกับอีกหลายร้อยหลายพันล้านคนทั่วโลกที่เกิดมาพร้อมกับดวงแก้วแห่งความดีงาม หลายๆครั้งเราจึงพบว่าเหตุผลของเด็กที่มีให้กับความฝันของตนเองนั้นมักเป็นได้ในด้านบวก เช่น ถ้าเขาอยากเป็นหมอเขาก็อยากเป็นเพราะจะได้รักษาคนไข้ ถ้าเขาอยากเป็นครูเขาก็อยากเป็นเพราะจะได้สอนหนังสือให้ความรู้แก่ผู้อื่นและเมื่อเขาอยากเป็นตำรวจเขาก็อยากเป็นเพราะได้จับโจรผู้ร้ายแต่พอโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีแค่ไม่กี่คนที่คิดเหมือนเดิมเหตุผลของเด็กๆที่มีต่อความฝันของเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามปุ๋ยแห่งทัศนคติที่พ่อแม่และสิ่งแวดล้อมรดน้ำพรสนดินให้แก่พวกเขา เขาอาจกลายเป็นคนเห็นแก่คนอื่นน้องลงและมองผลประโยชน์ตนเองมากขึ้น เช่น เจมส์เลือกเป็นหมอเพราะเห็นหมอที่ปิดคลินิกร่ำรวยกันทุกคน เต๊ะเลือกอาชีพตำรวจเพราะเทห์และมีอำนาจ เมย์เป็นครูเราะเห็นว่าเป็นข้าราชการแล้วจะได้สวัสดิการดีไปจนแก่เฒ่า ดังนั้นแม้เด็กจะเกิดมาพร้อมกับความใฝ่ดีแต่ก็ไม่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีทุกคน ดวงแก้วแห่งความดีของเด็กๆ จะถูกทำลายไปมากในระยะช่วงเวลาแห่งการเจริญเติบโต แต่ที่น่าเศร้าก็คือโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ฉกฉวยดวงแก้วของเด็กๆไปและทำลายไม่เหลือแม้ชิ้นดีก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองของเขานั่นเอง
      ดวงแก้วแห่งความดีงามที่เด็กมีติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้นทอแสงแวววาวสว่างไสว ทว่าเปราะบางจึงแตกร้าวได้ง่ายพ่อแม่จึงเป็นผู้ช่วยกันประคับประคองแก้วดวงนี้ไม่ให้ตกแตกหรือมีมลทินแปดเปื้อนจนกว่าเด็กจะเจริญเติบโต อีกทั้งยังต้องช่วยริมส่วนพิเศษที่มีแต่พ่อแม่เท่านั้นจะให้ลูกได้มากพอเข้าไปในเนื้อแก้วด้วยส่วนพิเศษเหล่านั้นคือความรักความอบอุ่นที่เติมให้ลูกทุกวันไม่มีวันหมด รวมทั้งความเข้าใจดูแลเอาใจใส่การปลูกฝังทัศนคติในแง่บวกเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนดวงแก้วของลูกจากที่เปราะบางแตกง่ายให้กลายเป็นดวงแก้วเนื้อหนาที่แตกร้าวได้ยากเมื่อลูกโตขึ้นดวงแก้วนี้จะกลายเป็นเกราะเหล็กคุ้มกันจิตวิญญาณของเขา ต่อให้มีอุปสรรคขวากหนามสาหัสสากรรจ์แค่ไหนผ่าเข้ามาในชีวิต เขาก็จะหาทางออกให้กับตนเองได้เด็กที่มีเกราะเหล็กคุ้มครองจิตใจจะมีความหวังและมองเห็นความสุขที่รอตัวเองอยู่เบื้องหน้าเขาหรือเธอจึงมีมานะพยายามฟันฝ่าสิ่งกีดขวางเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันนั้นแม้บางครั้งจะเดินอยู่บนทางที่มืดมิดและอ้างว้าง เขาก็จะมองว่าเป็นแค่เสี้ยนหนามเล็กๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเท่านั้นเอง ผิดกับคนที่ไม่มีเกราะเหล็กคุ้มกันจิตใจ เมื่อพบเจอกับอุปสรรคเพียงเล็กน้อยจิตใจก็จะถูกทำลายได้ง่าย เป็นเหตุให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาแบบผิดๆและผลที่เกิดขึ้นก็มักจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
     อันที่จริงไม่มีพ่อแม่คนใดอยากทำร้ายลูก ถ้าดวงแก้วแห่งความดีงามเป็นสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้ พ่อแม่ย่อมต้องดูแลรักษาเอาไว้ให้ลูกอย่างดีที่สุด แต่ในเมื่อดวงแก้วนี้แม้ว่าจะมีอยู่จริงแต่ก็มิได้เป็นรูปธรรมเด่นชัด ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ได้ประจักษ์แก่สายตา และเลี้ยงลูกโดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะส่งผลออกมาให้เห็นในเชิงประจักษ์พียงอย่างเดียวนั่นคือ การสนับสนุนให้ลูกเป็นคนเก่ง และเป็นการเก่งโดยไม่แยแสต่อวามดีงามเท่าที่ควร
      การเลี้ยงลูกให้มุ่งที่จะเป็นคนเก่งมากกงว่าคนดีเกิดขึ้นพร้อมกับค่านิยมและความเจริญทางวัตถุ ดังคำที่กล่าวว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” แทนที่จะเป็น “ค่าของคนอยู่ที่ผลของการกระทำ” เมื่อเราเห็นคนเก่งมีงานการที่มั่นคงทำ มีรายได้เข้ากระเป๋ามาก และมีน่ามีตาในสังคม ไม่ว่าจะมองมุมไหนๆ จากสายตาของเรา เราก็มักจะเห็นคนเก่งมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขในทุกๆ ด้าน ดังนั้นเราจึงอยากเป็นเช่นนั้นและอยากให้ลูกของเราเป็นอย่างนั้นบ้างโดยที่ไม่รู้ว่าภายในใจของคนเก่งหลายๆคนขาดแคลนความรักและแล้งไร้ความสุขมากแค่ไหน
      ข่าวเด็กหนุ่มวัยเรียนเข้าไปยิงแฟนสาวเพราะฝ่ายหญิงขอเลิก จากนั้นก็ฆ่าตัวตายตาม นักเรียนฆ่าตัวตายเพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติดในคณะที่ต้องการนักศึกษาปีสี่ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง เรียนอยู่ในคณะที่ขึ้นชื่อว่าเอ็น-ทรานซ์ติดยากที่สุดคณะหนึ่งกระโดดตึกฆ่าตัวตายเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เกียรตินิยม ทั้งๆ ที่คะแนนตอนนั้นก็สูงขนาดที่เพื่อนคนอื่นยังตามไม่ทัน


            หรือถ้าใครได้อ่านนิตยสาร Secret ฉบับที่ 13 ที่คุณลุงนิรุตติ์ ศิริจรรยา ขึ้นปก ในคอลัมน์ Live & Learn ซึ่งดร. วิทย์สิทธิเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของบริษัทดีซี คอนซันแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ได้เล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟัง จะเข้าใจเรื่องที่ผู้เขียนพยายามบอกกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง
           ดร. วิทย์ ยังเป็นคนหนุ่ม เขาเล่าว่าตอนเด็กไม่เคยได้รับการสั่งสอนเรื่องธรรมะจากครอบครัว เขาเป็นเด็กเรียนดีและมีความทะเยอทะยานสูงอยากร่ำรวยเงินทองมีหน้ามีตาในสังคม ชีวิตที่ผ่านมาของเขาประสบความสำเร็จโดยตลอด
         แต่แล้วหลังจากจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจบเกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อเขาไปอยู่อังกฤษและพยายามจะสอบในระดับปริญญาโท ที่ London School of Economics and Political Science แต่เขากลับสอบไม่ผ่าน เขาประสบความตึงเครียดอย่างหนักจนกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ เขาต้องกินยานอนหลับ และทวีปริมาณและความรุนแรงของยาขึ้นเรื่อยๆ โดยตลอด
           หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานที่เมืองไทย ปรากฏว่าอาการดังกล่าวมีแต่จะทรุดลง เขาต้องพึ่งยานอนหลับอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่ชีวิตพรั่งพร้อมไปด้วยรถยนต์คันหรู เงินเดือนสูงลิ่ว เขาเป็นมนุษย์ทุนนิยม 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องำให้ได้และไม่มีคำว่าพลาด อย่างเด็ดขาด ใจสับสนวุ่นวาย คิดซ้ำๆ ซากๆ วนเวียนไปมาจนแทบจะคุมตนเองไม่ได้ แต่แล้วชีวิตก็มาถึงจุดหักเหเมื่อเขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่ห้องพระ ค้นหาหนังสือพระในตู้มาอ่าน จนได้พบกับหนังสือ แก่นพุทธศาสน์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเนื้อหาหนังสือกล่าวถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นและจิตที่ว่างเป็นอิสระ ดร. วิทยุถึงกับร้องไห้ในวันนั้น เพราะรู้สึกสงสารตนเองที่เหมือนถูกทอดทิ้งไว้ในทะเลทรายเพียงลำพังตลอดมาหลังจากนั้นไม่นานนัก ดร. วิทย์ตัดสินใจบวชช่วงหนึ่ง ในครั้งที่เป็นพระ พระสิกขาบท ดร.วิทย์สามารถนอนหลับได้สนิท เขาลดความ ไฮเปอร์ ซึ่งเน้นที่สปีดความเร็วลง แต่เรียนรู้ที่อยู่รอบๆ ตัวในระนาบกว้างมากขึ้นเขากลายเป็นคนที่มีชีวิตอันเป็นสุข และหมดปัญหาการนอนไม่หลับในที่สุด
        ข่าวสะเทือนใจเรื่องของการปลิดชีวิตของตนเองของผู้อื่นและความหลงผิดเช่นนี้ไม่มีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นระยะๆ ขณะแม้เรื่องราวความทุกข์ใจอันแสนสาหัสของคนเก่งฉกาจ แต่ไร้ซึ่งความสุขเฉกเช่น ดร.วิทย์ เคยเป็น อาจยังซ่อนเร้นอยู่เป็นจำนวนมากก็ตามแต่ในสิ่งที่น่าสนใจคือเด็กและเยาวชนทีที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงเพียงเพาะผิดหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือคนเก่งที่ไร้สุขส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในครอบครัวผู้มีอันกินและหลายคนก็มีครอบครัวที่อบอุ่นนั้นหมายถึงพวกเขานั้นมีการศึกษาและต้นทุนชีวิตที่สูงลิ่วหักล้างความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ว่า เด็กมีปัญหาล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจนหรือพ่อแม่แยกทางกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้...น่าคิดไม่น้อยเลยทีเดียวใช่หรือไม่?
          หากจะว่ากันไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง แต่ถ้าเก่งอย่างเดียว ไม่มีความเป็นแก่นแกนของหัวใจและเป็นคนไร้สุข ตึถ้าเก่งอย่างเดียว ไม่มีความดีเป็นแก่นของหัวใจและเป็นคนไร้สุข ความเก่งแบบนี้จะให้โทษแก่เด็กอย่างมหันต์ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมองการณ์ไกลด้วยว่า ความเก่งอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้ลูกเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เลวร้ายนับร้อยพันที่รอเขาอยู่ในอนาคต ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกเก่งและยืดหยัดอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข พ่อแม่ก็ต้องสร้างเกราะเหล็กคุ้มกันภัยให้แก่จิตวิญญาณของลูกก่อน นั่นก็คือสร้างความดี ความสุข และคุณธรรมให้เกิดในหัวใจของลูก เพื่อให้ลูกมีจิตใจที่แข็งแกร่ง พร้อมเผชิญปัญหาเมื่อพ้นไปจากอ้อมอกพ่อแม่แล้ว
          คนเก่งนั้นมีประโยชน์กับบุคลเพียงผู้เดียวคือตัวของเขาเองแต่คนดียังมีประโยชน์ให้เกิดแก่คนที่รายล้อมรอบๆ ตัวเขา และอีกทั้งยังส่งผลแห่งความดีนั้นให้แผ่วงกว้างออกไปอีกด้วย ใครคนหนึ่งเรียกรูปแบบการส่งต่อความดีเช่นนี้ว่า “จุดเชื่อมต่อแห่งความรัก” กล่าวคือ ความดีที่คนๆ หนึ่งกระทำต่ออีกคนหนึ่งคนที่ได้รับสิ่งดีๆ จากคนแรกอาจจะกระทำสิ่งดีๆ เช่นเดียวกันนั้นต่อคนอื่นๆ เชื่อมต่อแห่งความรักจะไม่มีวันสิ้นสุดลงตราบใดที่เราทำความดีและปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขเช่นเดียวที่เรามี และถ้าเป็นเช่นนั้นได้ เราจะเห็นได้ว่าโลกเราน่าอยู่มากขึ้นเพียงใด
           นอกจากเหตุผลที่ลูกจะได้ภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตจากการถูกปลูกฝังให้เป็นคนดีและมีความสุข รวมทั้งโลกเราก็พลอยน่าอยู่ขึ้นด้วยหากมีประชากรอันมีคุณค่านี้เพิ่มมากขึ้น ก็คือ คนที่ดีและมีความสุขมักกลายเป็นคนเก่งโดยอัตโนมัติโดยที่พ่อแม่แทบจะไม่ต้องลำบากเคี่ยวเข็ญให้เหนื่อยเลย เนื่องจากคนดีจะสร้างรูปแบบชีวิตที่มีความสุขและทัศนคติที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตนเองมาพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของเขา เขาจะรู้ว่าตนเองเป็นใคร? เกิดมาเพื่ออะไร? มีเป้าหมายในชีวิตคืออะไร? และพยายามสร้างศักยภาพของตนเองให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ ดังที่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา แบบอย่างของคนไทยผู้เป็นคนดีและเป็นคนเก่งอย่างแท้จริงเคยกล่าวไว้ในบทความที่ตีพิมพ์มติชน ตอนหนึ่งว่า
           “ปัจจุบันการศึกษาสอนให้เข้าใจผู้อื่นมากกว่าตนเอง สอนให้เป็นคนเก่งมากกว่าคนดี จึงต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ด้วยการสอนให้คนดีเหนือสิ่งอื่น เพราะถ้าเป็นคนดีแล้วจะเป็นคนเก่งโดยอัตโนมัติ
           ดร.อาจองเป็นเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ก้าวเข้าไปทำงานในองค์การนานาซาซึ่งปกติองการนี้จะไม่ยอมรับคนต่างสัญชาติเข้าไปทำงานด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าความลับของประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้าขององค์การจะรั่วไหลเมื่อ ดร.อาจองเข้าไปที่นั่น ท่านได้คิดค้นระบบร่อนลงจอดยานไวกิ้ง บนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ ทุกคนชื่นชมความสำเร็จของท่านและยกย่องให้เป็นบุคคลอัจฉริยะ แน่นอนพ่อแม่หลายคนเมื่อทราบเรื่องนี้ก็คงตั้งความหวังลึกๆ อยากให้ลูกเก่งฉกาจปัญญาเลิศเช่นเดียวกับท่านบ้าง แต่เมื่อเราได้ศึกษาชีวิตทั้งหมดทั้งมวลของ ดร. อาจอง เราจะพบว่าตัวท่านเองท่านกลับให้ความสำคัญกับการสร้างเด็กให้เป็นคนดีมากกว่าเป็นคนเก่ง โดย ดร.  อาจองได้แสดงทัศนของตนเองอยู่เสมอว่าคนเก่งนั้นไม่สำคัญเท่าคนดี การสร้างเด็กให้เป็นคนเก่งแต่เห็นแก่ตัว
          เป็นเรื่องที่อันตรายมากแต่ถ้าเด็กเป็นคนดี มีสมาธิดี ความจำดี เด็กก็จะเก่งเอง ดร.อาจองไม่เพียงแต่พูด แต่ท่านยังเพียรพยายามปฏิบัติและส่งเสริมเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมจนเป็นที่มาของโรงเรียนสัตยาไส สถานศึกษาอันบ่มเพาะต้นกล้าน้อยๆให้เติบโตเป็นบุคลากรของโลกที่มีคุณธรรมนำชีวิต เป็นทรัพยากรคุณภาพที่สังคมกำลังขาดแคลนและต้องการมากในขณะนี้
           ลองหันไปมองรอบๆ ตัวคุณ ไม่ว่าจะเปิดโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์หรือคลิกอินเตอร์เน็ตดูก็ตามคุณจะพบว่ามีคนเก่งในโลกของเรามากมาย แม้แต่เด็กๆ ข้างบ้านก็ดูจะฉลาดเฉลียวกว่าเราตอนที่ยังอายุเท่านั้นมาก แต่ปริมาณไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ เห็นได้ชัดเจนว่าคนเก่งที่มีอยู่ดาษดื่นในเวลานี้ไม่ได้ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นเลยตีรงกันข้ามเราต่างก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความระแวดระวังกันและกัน คนคดโกงเพิ่มมากขึ้น นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น ศิลธรรมของผู้อื่นเสื่อมทราม และถ้าคุณยังอยากที่จะให้ลูกคุณเก่งโดยไม่สนใจคนดีหรือไม่ก็ตามคุณกำลังสร้างเซลล์ผ่าเหล่าเพิ่มขึ้นมาในเซลล์ดีนับพันล้านเซลล์ของเราอีกเซลล์หนึ่ง และสุดท้ายเซลล์นี้อาจลามกลายเป็นมะเร็งของตัวเขาเองและของโลกในที่สุด
            ถ้าลูกของคุณเป็นคนดีและมีความสุขในชีวิต ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะเอาตัวรอดในโลกบิดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้ไม่ได้ เพราะคนดีไม่มีวันอับจนหนทางในการดำเนินชีวิต คนดีอยู่ได้ทุกสถานที่เพราะ ใครๆก็อ้าแขนรอรับ คนดีไม่ได้หมายความว่าไม่ฉลาด เขาจะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่สมดุลกับผู้อื่นขึ้นมาเนื่องเพราะเขาคิดถึงทั้งจิตใจของตนเองและผู้อื่นไปพร้อมๆ กันคนดีคิดจะทำอะไรก็มักสำเร็จโดยง่ายเพราะมีแต่คนช่วยเหลือ ที่สำคัญคนดีจะไม่มีวันสิ้นไร้ความสุข เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นพ่อแม่เป็นผู้ปกครองของเด็กสักคนหนึ่ง (หรือหลายๆ คน)ก่อนอื่น เลี้ยงเขาให้เป็นคนดีเถิด และเขาจะรู้สึกว่าเขาดีใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณ
  ถ้ามีโอกา ลองฟังเพลง “หนูอยากเป็นอะไร” ในท่อนท้ายๆ ดูบางที่คุณอาจเกิดทัศนคติใหม่ ๆ ในการเลี้ยงดูลูกก็เป็นได้

“ ถ้าโตขึ้นหนูเป็นคนดี หนูจะมีแต่คนรักใคร่
ทำสิ่งใดจะคิดอะไรหนูจะได้ดั่งใจเสมอ
ดวงดาวสายรุ้งจะเป็นเพื่อนเรา ความหงอยเหงาก็ไม่เจอะเจอ
เป็นคนดีกันดีไหมเออ ทำดีเสมอไม่ว่าหนูจะเป็นอะไร
หนูโตขึ้นหนูอยากเป็นคนดี หนูอยากมีแต่คนรักใคร่
ทำสิ่งใดคิดอะไรหนูคงได้ดังใจเสมอ
ดวงดาวสายรุ้งจะเป็นเพื่อนเรา ความหงอยเหงาก็ไม่เจอะเจอ
เป็นคนดีคงดีนะเออ ทำดีเสมอตลอดไป”















พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง สุพัดตรา แซ่ลิ่ม
เรื่องสอนเด็กอย่างไร ให้ดี และมีความสุข.—กรุงเทพฯ:โอเอซิส,2552. 256 หน้า

สำนักพิมพ์ โอเอซิส

9 ความคิดเห็น: